เมื่ออดีตต้องพึ่งพาอนาคต…ทำอย่างไรให้โบราณสถานอยู่คู่คนไทยอย่างยั่งยืน

ธรรมชาติของสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน หรือแม้กระทั่งโบราณสถานเก่าแก่ เมื่อกาลเวลาผ่านไปย่อมมีความชำรุดทรุดโทรมลง หากไม่ได้รับการซ่อมบำรุงที่เหมาะสมอาจจะทำให้เกิดความเสียหายตามมา ในประเทศไทยนั้นมีโบราณสถานที่เป็นปูชนียสถาน ที่มีความสวยงามและทรงคุณค่า ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อคนรุ่นหลังอยู่มากมาย เช่นเดียวกับ “ปาสาณเจดีย์” พระเจดีย์ประกบหินอ่อน ของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามโบราณราชประเพณี เมื่อปีพุทธศักราช 2407 และเป็นวัดประจำรัชกาล

ปาสาณเจดีย์นั้น เป็นพระเจดีย์มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว เป็นที่แน่นอนว่าอาจจะต้องมีการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์บางส่วนในอนาคต เนื่องจากความเก่าแก่ของพระเจดีย์ผนวกกับมีการตรวจพบว่าพื้นที่บริเวณวัดเริ่มมีการทรุดตัว แต่การที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ได้นั้นจำเป็นต้องทำอย่างถูกต้องและเหมาะสม เนื่องจากเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่และมีคุณค่า แต่ด้วยความพิเศษของพระเจดีย์ที่เป็นเจดีย์ประกบด้วยหินอ่อน ทำให้ยังมีข้อมูลและองค์ความรู้ที่จำเป็นในการบูรณปฏิสังขรณ์ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ โดยที่ผ่านมาทางวัดไม่สามารถบูรณปฏิสังขรณ์อะไรได้มากนัก เนื่องจากเกรงว่าการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่นั้นจะมีผลกระทบต่อโครงสร้างที่อาจทำให้พระเจดีย์ และปูชนียสถานใกล้เคียงเกิดความเสียหาย ดังนั้น ทางวัดจึงขอความอนุเคราะห์มาทางภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งมีความสอดคล้องกับ “โครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม” จึงได้เป็นความร่วมมือกันระหว่างวัดกับทางมหาวิทยาลัย

“โครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม” โดย มจธ. เป็นโครงการที่มีเป้าประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีการสแกนวัตถุสามมิติและองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาฐานข้อมูลทางวิศวกรรมเพื่อการประเมินและติดตามสภาพโครงสร้างโบราณสถานของไทย “การบูรณะ โบราณสถานเพื่อรากฐานการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน” ที่ได้รับรางวัลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2561 ด้านสาธารณะ มาต่อยอดสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์วัดไทย


-ค่าความโน้มเอียงของบริเวณจุดยอดพระเจดีย์

พระครูอุทิจยานุสาสน์ หัวหน้าสำนักงานโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือกับทาง มจธ. ในครั้งนี้ว่า เนื่องจากได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสให้ควบคุมดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารสถานที่ต่างๆ ภายในพระอารามมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่วัดมาโดยตลอด และเริ่มสังเกตได้ว่าพระเจดีย์ และพระวิหารหลวงเริ่มมีการทรุดตัว อีกทั้งเชื่อว่าปัญหาการทรุดตัวของพื้นที่ และความทรุดเอียงที่เกิดขึ้นกับตัวอาคารที่สำคัญของวัดนั้นไม่สามารถแก้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่จะต้องคิดหาวิธีการในการแก้ปัญหาเพื่อให้การบูรณปฏิสังขรณ์นั้นเป็นไปอย่างยั่งยืนที่สุด


– รูปด้านทิศตะวันตกแสดงความโน้มเอียงของพระอุโบสถ

ขณะนี้ สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ ความผิดพลาดบางประการที่หากเกิดขึ้นในระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ อาจจะส่งผลทำให้พระเจดีย์และปูชนียสถานใกล้เคียงเสียหายได้ และเนื่องด้วยความพิเศษของ “ปาสาณเจดีย์” และพื้นไพทีที่มีลักษณะสูง ในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่วัดที่มีลักษณะเช่นนี้ ทำให้ทางวัดมีความกังวลใจเรื่องขององค์ความรู้ในการบูรณปฏิสังขรณ์ จึงได้ประสานมายังภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อเข้ามาวิเคราะห์เพื่อพิจารณาการบูรณปฏิสังขรณ์ ก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อพระเจดีย์ และพระวิหารหลวงที่มากขึ้นและยากต่อการบูรณะซ่อมแซมในอนาคต


-รูปด้านทิศตะวันออกแสดงความโน้มเอียงของพระอุโบสถ

จากการลงพื้นที่ ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ทางคณะผู้วิจัย นำโดย รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา รศ. ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา นายพีรสิทธิ์ มหาสุวรรณชัย นักศึกษาปริญญาเอก และคณะวิจัยภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เพื่อเก็บข้อมูลสภาพปัจจุบันในเขตพุทธาวาสทั้งหมดของวัด โดยครอบคลุมพื้นผิวของอาคารที่สำคัญ ได้แก่ พระวิหารหลวง และปาสาณเจดีย์ ด้วยการใช้กล้องสแกนวัตถุสามมิติด้วยแสงเลเซอร์ ที่สามารถบอกค่าพิกัดต่างๆ ที่สามารถนำมาประมวลผลเป็นกลุ่มจุดข้อมูลภาพสามมิติได้ โดยการลงพื้นที่เพื่อทำการสำรวจในครั้งนี้ จะมีปริมาณข้อมูลที่ได้รับต่อตำแหน่งการตั้งเครื่องมืออยู่ที่ 11 ล้านจุด จากการวางกล้องสแกนวัตถุสามมิติทั้งสิ้น 45 ตำแหน่ง โดยมีจุดอ้างอิงค่าระดับอยู่บริเวณหน้าประตูทางเข้าวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ฝั่งติดถนนสราญรมย์

คณะผู้จัดทำโครงการได้เข้ารายงานผลการสำรวจในชั้นต้นต่อทางวัดราชประดิษฐฯ พบว่า พระวิหารหลวงมีการทรุดเอียงไปทางทิศใต้ทางฝั่งพระเจดีย์ในอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูง ส่วนค่าความเอียงของพระเจดีย์ที่ตรวจวัดได้มีค่าไม่มาก และลักษณะโครงสร้างของพระวิหารหลวงและพระเจดีย์จากการตรวจสอบในเบื้องต้นนี้ยังไม่พบความเสียหายที่มีต่อเสถียรภาพของโครงสร้าง

รศ. ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล กล่าวว่า ความทรุดเอียงที่พบจากการสำรวจพื้นที่ของวัดราชประดิษฐฯ นั้น ณ ขณะนี้ถือว่ายังไม่ส่งผลต่อโครงสร้างของพระเจดีย์ และพระวิหารหลวง โดยมองว่าการบูรณปฏิสังขรณ์ในเวลานี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากการบูรณปฏิสังขรณ์พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งย่อมส่งผลต่อพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ ซึ่งทางคณะวิจัยจะใช้ข้อมูลที่ได้ในครั้งนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการติดตามและประเมินผล และคาดว่าจะดำเนินการสำรวจพื้นที่และเก็บข้อมูลอีกครั้งในรอบ 6-12 เดือนข้างหน้า เพื่อวิเคราะห์ เปรียบเทียบ และประเมินอัตราการทรุดตัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ทางวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บเป็นข้อมูลที่จะสามารถนำไปประกอบการดำเนินการการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ และพระวิหารหลวงได้อย่างถูกต้องต่อไปในอนาคต

“โครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม” ของ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ที่สำรวจวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม โดยใช้เทคโนโลยี “กล้องสแกนวัตถุสามมิติด้วยแสงเลเซอร์” ประเมินกายภาพพื้นที่ของอาคารสำคัญ เพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์และการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

ที่มาของข่าว https://siamrath.co.th/n/221857

Categories: ข่าวสาร,ความสำเร็จ